เครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานชี้แนวทางการสร้างนวัตกรรม”เห็ดกระด้าง”พัฒนาสู่”เห็ดเป็นยา”แบบยั่งยืน

วันนี้(17 พฤษภาคม 2561) ณ ศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มหมู่บ้านเห็ด ชุมชนพรสวรรค์ ทต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี นายองอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนท้องถิ่นอีสาน ผศ.ดร.อฤเดช แพงอะมะ ผอ.สถาบันมุตโตทัย และ นางบุณณดา เลาหะดิลก รองประธานเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club อุดรธานี มาดูการเก็บดอกเห็ดกระด้าง โดยมี ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานสมาพันธ์เพาะเห็ด แห่งประเทศไทย และคณะให้การต้อนรับ เพื่อดูการเก็บเห็ดพร้อมกับร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ “เห็ดกระด้างสู่เห็ดเป็นยา แบบยั่งยืน”

นายองอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนท้องถิ่นอีสาน ได้กล่าวว่า จากประสบการณ์ผู้เพาะเห็ดที่ผ่านมาหลังจากตนเองได้ลงพื้นที่ไปหลายฟาร์ม การเพาะเห็ดที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่ากับการลงทุน 80% – 90% เกิดจากขาดข้อมูลด้านเทคนิค การให้แร่ธาตุหรืออาหารเสริมกับเห็ดที่เพาะเลี้ยง ส่วนมากอาศัยเพียงอาหารเห็ดที่มากับก้อนเท่านั้น ถึงแม้เป็นเรื่องเล็กๆก็ทำให้เกิดปัญหาได้ เห็ดไม่ออกดอก ดอกไม่สมบูรณ์ พักก้อนนานเกินไป หรือแม้แต่อายุก้อนสั้น ซึ่งปกติทั่วไปหากได้ศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ก้อนเห็ดหนึ่งก้อนสามารถให้ผลิตหรือเก็บดอกเห็ดได้นาน 5-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของก้อน รวมถึงการดูแลรักษาให้อาหารเสริมผ่านหน้าก้อนอย่างสม่ำเสมอด้วย
อย่าลืมว่าเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทรา ไม่มีคลอโรฟิลล์ ไม่สามารถสร้างอาหารหรือสังเคราะห์แสงเองได้ ต้องอาศัยปล่อยน้ำย่อยเพื่อย่อยสารอาหารในธรรมชาติให้เล็ก ให้ง่ายต่อการดูดซับหรือนำไปใช้ แต่ในปัจจุบันคนนิยมรับประทานเห็ดเพิ่มขึ้น ตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น อันจะรอให้เห็ดย่อยเองคงไม่ทัน ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนารุดหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเพาะเห็ดจึงเป็นเรื่องง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญเพาะได้ทั้งปี จะว่าเรื่องอุณหภูมิเดี่ยวนี้ก็หันพึ่งระบบอีแว็ปที่เคยใช้ในปศุสัตว์ มาใช้ในโรงเรือนเห็ดมากขึ้น คงเหลือแค่การเก็บดอกที่ยังต้องอาศัยคนเก็บอยู่

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ทางฟาร์มหมู่บ้านเห็ด ก็ได้พัฒนาการทำ “เห็ดกระด้างเป็นยา” อยู่แล้วและทางเครือข่ายภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเอง ก็ต้องการที่อยากจะส่งเสริมและพัฒนาการ ตัวยาของการนำเอาเห็ดหลาย ๆ ชนิดมารวมกันให้เกิดประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคชนิดต่าง ๆ ตามแบบฉบับของภูมิปัญญาท้องถิ่นเรา เพราะที่ผ่านมาในอดีตเราก็เอาเห็ดมาทำเป็นรักษาผู้ป่วยกันอยู่แล้ว คงได้พูดคยกันหลาย ๆ รอบ เพื่อก่อให้เกิดการรวมมือกันทั้งสองฝ่ายที่จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและประชาชนต่อไป

ข้อมูลภาพ/ข่าว
ดร.อานนท์ แสนน่าน
ทศพร ก้อนแก้ว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.