ยื้อเวลา พ.ร.ก.ต่างด้าวทำ “บิ๊กตู่” รอด “สหบาทา” หวุดหวิด !!

560000007081901

                         จะเรียกว่าเป็นบทเรียนสำคัญ หรือว่าเป็นการ “ลงทุนที่ไม่คุ้มค่า” ก็สุดแล้วแต่จะว่ากันไปสำหรับการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน เป็นต้นมา แต่ก็ได้สร้างความโกลาหลให้กับทั้ง นายจ้าง ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวนนับล้านคนที่ต้องบอกเลิกจ้าง ต้องหลบหนีข้ามชายแดนกลับประเทศกันแบบชุลมุนวุ่นวาย วันละหลายหมื่นคน 

                         สาเหตุเป็นเพราะกลัวบทลงโทษที่รุนแรง หนักหนาสาหัสกว่าเดิม เช่น ทั้งจำคุก ทั้งปรับเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็น 1 – 2 เท่าตัว

                         ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงอย่างน้อยที่เห็น ก็คือ ในระยะสั้นที่กำลังเป็นอยู่นี้นี่แหละ ทั้งที่กำลังในครึ่งปีหลังมั่นใจกันว่าจะเริ่มทะยาน ก็อาจต้องมีอันสะดุด เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ทุกอย่างเกิดการชะงักแบบปัจจุบันทันด่วน

                         สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือ การเพิ่มโทษให้มีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับ “นายจ้าง” จากเดิมหากกระทำผิดเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะทำผิดต่อแรงงานต่างด้าวกี่คนจะรับรวมเป็นกรณีเดียว แต่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ จะปรับนายจ้างแยกตามจำนวนแรงงานต่างด้าวรายคน ทำให้โทษสูงขึ้น เช่น นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

                         ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

                         นี่ยังไม่นับถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและการป้องกันการค้ามนุษย์ที่มีโทษปรับและจำคุกเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงอีกด้วย

                         แน่นอนว่า หากพิจารณากันในภาพรวมๆ ก็ต้องบอกว่านี่คือเจตนาดี เพื่อเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อเหตุผลทางด้านความมั่นคง สร้างมาตรฐานการจ้างงาน และใช้กฎหมายที่เป็นสากลที่โลกยุคใหม่ยอมรับ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันและปราบปราม “การค้ามนุษย์” ที่ทั่วโลกแสดงความรังเกียจ

                         และด้วยเหตุผลอย่างหลังนี่แหละที่เป็นเหตุผลสำคัญจนทำให้ต้องรีบออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการบังคับใช้ โดยเฉพาะในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีกำหนดการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อเจรจากับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อีกทั้งการออกกฎหมายมาในช่วงเวลานี้ก็บังเอิญตรงกับช่วงที่ทางการสหรัฐฯจะรายงานเผยแพร่ประเทศที่จัดการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ทั่วโลก ซึ่งปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้จัดไทยอยู่ในประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือระดับ “เทียร์ 2” ซึ่งปีนี้ผลก็ไม่ได้ต่างกันนั่นคืออยู่ระดับเดิม

                         เมื่ออยู่ในระดับเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ หากพิจารณากันในมิติทางด้านเศรษฐกิจก็ต้องบอกว่า “ไม่คุ้มค่า” หรือออกไปในทางขาดทุนมากกว่า แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพูดว่าใครจะมองเราแบบไหนก็ตาม แต่เราก็จะจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์ให้ดีที่สุด และต้องเดินหน้าทำต่อไป มันก็เป็นเรื่องดีและน่าชื่นชม แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเร่งรีบออกเป็นพระราชกำหนดแทนที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติตามแบบกฎหมายทั่วไป ทำให้ขาดการระดมความเห็นจากหลายฝ่ายอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการเปิดช่องให้หายใจหายคอทั้งจากลูกจ้างและนายจ้าง โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ที่กว้างขวาง ทั่วถึงมากกว่าที่เป็นอยู่

                         แน่นอนว่า นี่คือ กฎหมายที่มีเหตุผลด้านความมั่นคง การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่กระจัดกระจายในประเทศไทยหลายล้านคน โดยเฉพาะ “แรงงานเถื่อน” อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งแรงงานพวกนี้นอกจากที่เราต้องรับภาระในเรื่องสาธารณสุข การรักษาพยาบาลฟรี สารพัด ขณะที่การจ้างงานที่บรรดานายจ้างได้ประโยชน์จากแรงงานเถื่อนพวกนี้ ดังนั้น มันก็ถึงเวลาทีจะต้องจัดการกันใหม่

                         แต่ด้วย “วิธีการ” ที่รวบรัดฉุกละหุก แบบไม่ค่อยปรึกษาใคร อ่อนด้อยในการประชาสัมพันธ์ ทำให้กฎหมายที่มีเจตนาดี มีการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือการ “ค้าทาสยุคใหม่” อย่างเด็ดขาด มีการส่งเสริมสวัสดิการให้ได้มาตรฐานเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐ แต่ทุกอย่างก็ทำท่ากลับเป็นตาลปัตร กำลังถูกรุมถล่มกันจนเละ ทุกอย่างกำลังจะย้อนกลับมาทำร้ายรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันจนคาดไม่ถึง ว่า แรงสะท้อนกลับมาจะหนักหน่วงถึงเพียงนี้

                         อย่างไรก็ดี ยังถือเป็นโชคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับตัวได้ทันท่วงที ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งขยายเวลาการบังคับใช้ในบางมาตราออกไปเป็นเวลา 180 วัน หรืออีก 6 เดือน จากเดิมที่มีการเสนอให้ยืดเวลาแค่ 120 วัน ก็ถือว่า “แถม” ให้ไปอีก

                         ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในมุมทางการเมืองก็ต้องถือว่า “พลาด” ครั้งสำคัญที่ออกกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้านในทุกระดับแบบนี้ออกมาในช่วงจังหวะเวลาที่ถือว่า “ผิดคิว” ไปหน่อย จนเชื่อว่าหากยังบังคับใช้กันต่อไป เชื่อว่า จะต้องเกิดผลกระทบในวงกว้าง และอาจถึงขั้นสั่นสะเทือนรัฐบาล และ คสช. กันเลยทีเดียว ยังดีที่กลับลำทัน ก่อนที่จะถูกรุม “สหบาทา” โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่กำลังขยายผลแบบไม่ยั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญโดยเฉพาะการใช้ “เพื่อนพ้องน้องพี่” ที่ไร้ประสบการณ์มองในมุมแคบๆ เท่านั้น

                         บทเรียนจากพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวคราวนี้ก็ได้ประจักษ์ในฝีมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน ที่ต้องไปค้นชื่อถึงรู้ว่าเป็น พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ก็ต้องบอกว่าที่ผ่านมาถือว่า “โนเนม” แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยทั้งที่น่าจะมีแอ็กชั่นให้เข้มข้นจากภาวะที่ไทยกำลังถูกขึ้นบัญชีในเรื่อง “ค้ามนุษย์” จากนานาชาติ ถึงได้บอกว่าในรัฐบาลเหมือนกับมีรัฐมนตรีทำงานแค่ 2 – 3 คนเท่านั้น ผลถึงออกมาอย่างที่เห็น โชคยังดีที่ไม่ล้มคว่ำกันไปก่อน !!

ข้อมูลจาก เมืองไทย 360 องศา 5 กค.60 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *