ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม บรรยายพิเศษแก่ข้าราชการใหม่ ในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

‘พบ ขรก.ใหม่ ฝ่ายปกครอง’
ณ วิทยาลัยการปกครอง
อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

เมื่อเช้าวันนี้ (19 ก.พ. 62) เวลา 09.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม บรรยายพิเศษแก่ข้าราชการใหม่ ในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เรื่อง ‘ปรัชญาการเป็นข้าราชการที่ดี’ ณ วิทยาลัยการปกครอง อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

ม.ล.ปนัดดา กล่าวตอนหนึ่งในส่วนของสารัตถะการศึกษาเปรียบเทียบวิชาปรัชญาทางการปกครองว่า :

“อาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งของผมส่งบทความมาให้ผมจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ นครหลวงของมาเลเซีย ประเทศนี้เป็นความทรงจำของครอบครัวผม ขณะคุณพ่อของผมดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศมาเลเซีย ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งในประชาคมอาเซียนที่มีความรักความผูกพันกับประเทศไทย บทความมีใจความสำคัญ ดังนี้

‘เมื่อชาวจีนสมัยโบราณต้องการอยู่อย่างปลอดภัย พวกเขาได้สร้างกำแพงเมืองจีนที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาโดยเชื่อว่าจะไม่มีมนุษย์หน้าไหนสามารถปีนข้ามมันมาได้เพราะสูงมาก

หากแต่ทว่า ภายในร้อยปีแรกหลังการสร้างกำแพงเสร็จ เมืองจีนกลับถูกรุกรานถึงสามครั้งสามครา

ในแต่ละครั้งกองทัพของศัตรูไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทะลวงกำแพงหรือปีนข้ามให้ยากเลยแม้แต่น้อย

ในทุกครั้งพวกเขาใช้วิธีการกินสินบาทคาดสินบนกับยามเฝ้าประตูแล้วเข้าทางประตูกำแพงนั่นเอง

เรื่องนี้สอนให้เราเห็นว่า ผู้ปกครองมัวแต่ห่วงเรื่องสร้างกำแพงจนลืมสร้างคนเฝ้ากำแพง

เพราะการสร้างคนต้องมาก่อนการสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง และนี่คือสิ่งที่ผู้คนในทุกวันนี้ต้องตระหนักให้มาก ประสบการณ์ชีวิตถือเป็นหัวใจในการครองตน ครองคน และครองงาน อะไรรู้มากรู้น้อย ควรพูดหรือไม่ควรพูด ต้องไม่อวดดี หรือวัดรอยเท้าบรรพชน

นักบูรพาคดี ซึ่งได้แก่บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อน ขยาย และยกระดับการรุกคืบของชาติตะวันตกบนผืนแผ่นดินโลกตะวันออกผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า ถ้าต้องการทำลายอารยธรรมของประชาชาติหนึ่งประชาชาติใด มีขั้นตอนอยู่สามอย่างที่ต้องทำซึ่งถือเป็นภยันตรายต่อความอยู่รอดปลอดภัย

1) ทำลายเอกภาพของครอบครัวและสังคม ให้แตกแยก เกิดความร้าวฉาน

2) ทำลายระบบการศึกษา ทำลายล้างระบบคุณธรรม จริยธรรม พูดถึงแต่เรื่องความร่ำรวย ความฟุ่มเฟือย มากกว่าเรื่องความซื่อตรง ความจริงใจ หลักสุจริตธรรม

3) ล้มบุคคลต้นแบบและตัวอย่างที่ดีงามในสังคมให้หมดสิ้น เหลือแต่บุคคลประเภทคุยโวโอ้อวด ปาก-ใจ-กาย ไม่ตรงกันสักอย่าง

เมื่อแม่ที่ฉลาด ครูที่จริงใจ มีความรู้ความสามารถ และต้นแบบที่ดีงามหายไปหมดสิ้น แล้วใครเล่าจะดูแลต้นกล้าเยาวชนให้เป็นอนาคตอันสว่างไสวของชาติบ้านเมือง เรื่องนี้ที่ผมขอให้น้องๆ ข้าราชการใหม่ช่วยกันขบคิด อาจตั้งขึ้นเป็นโจทย์ในชั้นเรียน ลงภาคสนาม และร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะยาว ไม่มีคำว่าท้อแท้ หรือถอดใจใดๆ เป็นอันขาด” ม.ล.ปนัดดา กล่าว

*ข้าวกล้า บันทึกคำบรรยาย
19-2-62

ข่าวสารกระทรวงยุติธรรม

พิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *