ขอนแก่น – กสศ. เปิดเวทีระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

กสศ. เปิดเวทีระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ จ.ขอนแก่น

วันที่ 9 พ.ค. 2566 ที่ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นประธานเปิดเวทีระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยนายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการบริหาร กสศ. ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า อ.ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะผู้บริหาร กสศ. นายรัชพร วรรณคำ ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น และทีมวิทยากรกระบวนการ ร่วมกิจกรรม โดยมี นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคีทุกภาคส่วน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นเป็นเวทีแรก และจะมีการจัดอีก 3 เวทีให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ต่อไป

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ดำเนินงานเป็นกลไกแบบใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดย กสศ. ได้มองเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มผู้รับประโยชน์ เช่น เด็ก เยาวชน ครู โรงเรียน และชุมชนและการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโดยมีการดำเนินงานในรูปแบบการเหนี่ยวนำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

“การดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือต้อยโอกาส ราว 1.7 ล้านคนต่อปี รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับคุณครูทั่วประเทศมากกว่า 400,000 คน และสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่งใน 6 ต้นสังกัดทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับประเทศไปจนถึงระดับครัวเรือน ซ้ำเติมความยากลำบากของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยได้พยายามปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการของ กสศ. เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตอบสนองต่อความเดือดร้อนจำเป็นของกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้ทันท่วงที”

พร้อมกันนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. และคณะผู้บริหาร กสศ. ได้ลงพื้นที่โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรทุนผู้ช่วยทันตแพทย์ 1 ปี เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนนักศึกษาทุนหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (รุ่นที่2 และจบการศึกษาแล้ว) พร้อมเยี่ยมชมการเรียนภาคปฏิบัติ ณ คลินิกทันตกรรมรวม 2 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขณะที่ นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดเผยว่าแนวคิดต่อการช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤตก็เป็นการต่อยอดที่เราเจอสถานการณ์โควิด เรามีเด็กที่เป็นเด็กตกหล่นอยู่จำนวนมากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยได้พยายามนำร่อง 4 จังหวัดก่อน ซึ่งเป็นการทำงานแบบต่อยอดจังหวัดที่มีการทำงานในพื้นที่ อย่างเช่นจังหวัดขอนแก่นโดยศึกษาธิการจังหวัดเป็นหลักอยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้พยายามสร้างกลไกรกลางที่เป็นการร่วมมือของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันดึงภาคเอกชนเข้ามาด้วย เด็กในภาวะวิกฤตก็อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเหล่านี้ที่ทำการแสกนค้นหาว่ามีเด็กคนไหนบ้างที่ต้องการความเร่งด่วนที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทั้งท้องถิ่นพื้นที่ ค้นหาว่าใครบ้างที่ต้องการความดูแลเป็นพิเศษแล้วส่งความช่วยเหลือไป อาจะเป็นรูปเม็ดเงิน อาจจะเป็นในรูปแบบความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ เข้าไปดูแล ที่อยู่อาศัยเป็นต้น เป็นการทำงานที่จะต้องดึงน้องออกมาจากสถานการณ์ยากลำบากก่อน เพื่อที่จะเป็นการส่งต่อในการดูแลด้านอื่นไป

งานอีกด้านทางทีมงาน กสศ. ของเราทำอยู่ คือ เราพยายามที่จะให้น้องที่อยู่ในสภาวะยากจนได้เรียนต่อ และจบออกมาทำงาน สร้างอาชีพได้โดยเร็ว ซึ่งการทำอาชีพด้านทันตกรรม เป็นผู้ช่วยทันตกรรม ใช้เวลาเรียนเพียงปีเดียวก็สามารถที่จะประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ก็มีการส่งเสริมและตามหาน้องที่สนใจว่าเรามาเรียนทันตกรรมดีไหม ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะทันตกรรม จัดการเรียนการสอนน้อง ๆ กลุ่มนี้ ซึ่งน้องจบออกมาทำหน้าที่ผู้ช่วยทันตกรรมได้ ซึ่งนอกเหนือจากอาชีพนี้แล้ว ทางเราได้พยายามค้นคว้าว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่เป็นที่ต้องการของตลาดอาจจะใช้เวลาเรียนไม่นานนัก เพราะน้องกลุ่มนี้ที่ต้องการดูแลด้านเศรษฐกิจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างโอกาสทางรายได้ โดยมีอยู่ 2 อาชีพคือ ผู้ช่วยทันตกรรม ผู้ช่วยทางด้านการสาธารณสุข งานด้านบริบาล โดยการทำงานร่วมกับภาคราชการในจังหวัดขอนแก่น

ที่มา : https://www.esandailyonline.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *